การศึกษา ของ เรนาโต โคโรนา

คุณวุฒิ

ในปี 2513 โคโรนาสำเร็จเป็นศิลปศาสตรบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยอาเตเนโอเดมะนิลา (Ateneo de Manila University) ครั้งเป็นนักศึกษา เขาได้ทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์นักศึกษาเรียก เดอะกีด็อน (The GUIDON) ด้วย ต่อมาในปี 2517 จึงสำเร็จเป็นนิติศาสตรบัณฑิตจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอาเตเนโอ (Ateneo Law School) และสอบเนติบัณฑิตผ่าน ได้คะแนนร้อยละ 84.6 นับเป็นที่ยี่สิบห้าจากผู้สอบทั้งหมดหนึ่งพันเก้าร้อยหกสิบห้าคน[3]

ลุปี 2524 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard Law School) ตกลงรับเขาเข้าศึกษานิติศาสตรมหาบัณฑิต และเขาสำเร็จการศึกษาได้ปริญญานั้นในปีถัดมา ต่อมา จึงสำเร็จเป็นนิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตเกียรตินิยมอันดับหนึ่งจากมหาวิทยาลัยซันโตโทมัส (University of Santo Tomas) และได้รับเลือกเป็นตัวแทนเพื่อนร่วมห้องกล่าวคำอำลาในพิธีประสาทปริญญาบัตรด้วย[3]

ข้อโต้เถียงเรื่องปริญญาดุษฎีบัณฑิต

วันที่ 22 ธันวาคม 2554 มาริเตส วีทัก (Marites Vitug) นักข่าวออนไลน์ประจำเว็บไซต์แร็ปเปลอร์.คอม (Rappler.com) ลงบทความอ้างว่า มหาวิทยาลัยซันโตโทมัส "คงแหกระเบียบตัวเองเสียแล้ว" ในการที่ได้มอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตสาขากฎหมายแพ่งให้แก่โคโรนา ทั้งยังได้อนุมัติคุณวุฒิต่าง ๆ ให้แก่เขาด้วย วีทักว่า โคโรนาไม่ได้ส่งวาทนิพนธ์สำหรับสำเร็จการศึกษาชั้นดุษฎีบัณฑิตของเขาตามที่มหาวิทยาลัยกำหนดไว้เป็นระเบียบสำหรับคนทั้งปวงที่ประสงค์จะได้ปริญญาดุษฎีบัณฑิต เธอยังว่า โคโรนาเรียนนานเกินอนุญาต เพราะมหาวิทยาลัยกำหนดว่า ผู้ศึกษาชั้นดุษฎีบัณฑิตต้องสำเร็จการศึกษาภายในห้าปีแต่ไม่เกินเจ็ดปีเป็นอย่างสูง แต่ตามที่โคโรนาให้สัมภาษณ์ไว้เองปรากฏว่า เขาเริ่มทำงานส่งอาจารย์ในชั้นดุษฎีบัณฑิตเมื่อปี 2543 หรือ 2544 ทว่า มาจบการศึกษาเอาในเดือนเมษายน 2554 ทั้งยังได้เป็นหนึ่งในบัณฑิตหกคนที่ได้รับเกียรติยศสูงสุดในพิธีเฉลิมฉลองวันครบรอบสี่ร้อยปีของมหาวิทยาลัยด้วย[4][5]

บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยซันโตโทมัส ออกแถลงการณ์บอกปัดว่ามิได้ละเมิดระเบียบตนเองเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่โคโรนา โดยเสริมว่า โคโรนาได้ลงทะเบียนเรียนวิชาบังคับทั้งปวงเพื่อสำเร็จเป็นดุษฎีบัณฑิต ได้เข้าเรียนและผ่านวิชาทั้งนั้น และได้ส่ง "ศาสตรนิพนธ์ทางการศึกษา" เป็นวาทนิพนธ์ในระหว่างบรรยายรวมแล้ว มหาวิทยาลัยยังว่า นับแต่คณะกรรมการการอุดมศึกษาประกาศให้มหาวิทยาลัยเป็น "สถาบันอุดมศึกษาที่ปกครองตนเอง" สืบมา มหาวิทยาลัยย่อมมีเสรีภาพทางการศึกษาประจำสถาบันในอันที่จะวางมาตรฐานคุณลักษณะและความเป็นเลิศของตนเอง และกำหนดเองว่าจะประสาทปริญญาใดให้แก่ผู้ใดตามสมควร มหาวิทยาลัยกล่าวด้วยว่า ประเด็นระยะเวลาการเป็นนักศึกษาของโคโรนากับประเด็นเรื่องเกียรติยศที่เขาได้รับนั้นเป็นแต่เรื่องมโนสาเร่ เพราะเรื่องเหล่านี้ย่อมเป็น "เสรีภาพทางการศึกษาประจำสถาบัน" ของมหาวิทยาลัย[6] ขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยซันโตโทมัสก็อ้างว่า วีทักผิดใจกับโคโรนาและศาลสูงสุดอยู่ จึงสงสัยว่า เธอเขียนบทความเพื่อวัตถุประสงค์อันใด[7]

ฝ่ายวีทักนั้น เมื่อมีผู้ขอให้วิจารณ์แถลงการณ์ของมหาวิทยาลัย ก็ตอบว่า ในแถลงการณ์นั้น มหาวิทยาลัย "บอกอยู่เป็นพื้นแล้วว่า เรามีระเบียบ แต่เราจะฝืนมันก็ได้โดยเอาเสรีภาพทางการศึกษาและอำนาจในการปกครองตนเองเข้าอ้าง"[8] เธอยังเขียนหนังสือชื่อ แชโดว์ออฟเดาบต์: โพรบิงเดอะสุพรีมคอร์ต (Shadow of Doubt: Probing the Supreme Court) ตอนหนึ่งว่า ที่โคโรนาอ้างว่าได้ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยอาเตเนโอเดมะนิลาพร้อมด้วยเกียรติยศต่าง ๆ นั้น ไม่มีบันทึกไว้ในบรรณสารของมหาวิทยาลัยแต่ประการใด[5]

แหล่งที่มา

WikiPedia: เรนาโต โคโรนา http://www.abs-cbnnews.com/nation/12/12/11/chief-j... http://www.aljazeera.com/news/asia-pacific/2012/05... http://www.chanrobles.com/index.php/component/cont... http://www.gmanetwork.com/news/story/241451/news/n... http://www.gmanetwork.com/news/story/243264/news/n... http://www.gmanetwork.com/news/story/243329/news/n... http://www.rappler.com/ http://www.rappler.com/nation/645-ust-corona-s-lec... http://www.rappler.com/nation/special-coverage/cor... http://www.rappler.com/nation/special-coverage/cor...